ท่องเที่ยวหนองจอก (Nongchoktravel)

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ธารน้ำใสสะอาด  พฤกษชาติเขียวขจี  พื้นที่กว้างใหญ่  มหาวิทยาลัยระดับชาติ  ผดุงบทบาท "บรม" "บวร"  พัฒนาประชากรหนองจอก ... ประพันธ์โดย อ.อั๊ดนาน นีละไพจิตร ข้าราชการบำนาญ

   Main webboard   »   แหล่งท่องเที่ยวในเขตหนองจอก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   แนะนำตลาดริมคลองระแหง จ.ปทุมธานี  (Read: 1897 times - Reply: 0 comments)   
luise

Posts: 62 topics
Joined: 16/8/2552

แนะนำตลาดริมคลองระแหง จ.ปทุมธานี
« Thread Started on 2/1/2554 18:03:00 IP : 124.122.165.33 »
 

ตลาดริมคลองระแหง อยู่บนทางหลวงเส้น 365 (ปทุมธานี – ลาดหลุมแก้ว) ช่วงข้ามคลองเล็กๆ ชื่อ คลองระแหง ซึ่งไหลผ่านตัวตลาดตำบลระแหง ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

คุณเอนก นาวิกมูล เจ้าสำนักบ้านพิพิธภัณฑ์ เคยเขียนหนังสืออธิบายไว้ว่า เหตุที่ตำบลระแหง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่นาของราษฎร เกิดเจริญมีตลาดคึกคักในสมัยก่อน ก็เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ปลายทางสุด ของทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – บางบัวทอง – ลาดหลุมแก้ว อันเป็นทางรถไฟเอกชน สร้างโดยเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ทางรถไฟนี้ตั้งต้นตั้งแต่วัดลิงขบ บ้านเตาปูน ผ่านเมืองนนทบุรีแถบวัดเฉลิมพระเกียรติ ตัดทุ่งบางบัวทองไปถึงระแหง แล้วก็หมดลงเพียงแค่นั้น ทั้งๆ เดิมที มีโครงการจะสร้างยาวไปถึงตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโน่นทีเดียว

เริ่มสร้างทางรถไฟเมื่อ พ.ศ. 2452 อีกหกปีต่อมา คือ พ.ศ. 2458 ก็ให้บริการเดินรถได้ ว่ากันว่ามีคนแห่มาใช้บริการมาก แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครทราบแม้แต่ว่า เลิกเดินรถไปตั้งแต่เมื่อใด สถานีอยู่ ณ ที่ใด และเหตุใดจึงได้เลิกราไป

ตลาด ริมคลองระแหงในปัจจุบันนี้ ก็เหมือนตลาดเก่าแก่ อีกหลายสิบหลายร้อยแห่งในชนบทไทยเวลานี้นั่นแหละครับ ที่เป็นตลาดห้องแถวไม้สองชั้น เรียงรายไปตามริมคลอง อันเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัย ไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษก่อน โชว์ผิวเนื้อไม้สีน้ำตาลเก่าคร่ำคร่า ที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน โดยมิได้ฉาบทาสีสันใดทับลงไป

ตลาดเก่าเหล่านี้ จะว่าไปก็คือ "พิพิธภัณฑ์" ที่ยังมีลมหายใจ มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวจริงๆ โดยผู้คนที่ใช้ชีวิตกินอยู่ หลับนอนอยู่จริงๆ ณ สถานที่แห่งนั้น เราสามารถจะซื้อแฟ้บ สบู่ ยาสระผมกลับบ้าน หากับข้าวกับปลาแบบโบราณๆ หรือกระทั่งตัดผม แคะหูได้จริงๆ ในบรรยากาศย้อนยุค ที่มีอยู่จริง ณ เวลาของปัจจุบัน

สามารถจอดรถในวัดบัวแก้วเกสร ริมถนนฝั่งตรงข้ามกับตัวตลาด แล้วค่อยๆ เดินเลาะข้างตึกแถวริมทางหลวง ลอดใต้สะพาน อ้อมไปเข้าตัวตลาด ซึ่งตอนต้นๆ ก็เป็นแผงผัก แผงเนื้ออย่าง กับตลาดสดทั่วไป

ถัด เข้าไปจึงเริ่มเป็นร้านขายของใช้ครัวเรือนเก่าๆ พวกเตาไฟ รังผึ้ง เคียวเกี่ยวข้าว ผ้าขาวม้าโสร่ง ไม้กวาดอ่อน ไปจนถึง ขนมขบเคี้ยว และลูกอมนานาชนิด

ร้านขายเสื้อผ้า เป็นแบบเดียวกับที่เคยซื้อเมื่อตอนเด็กๆ กว่าสามสิบปีที่แล้ว ที่ตลาดอำเภอเมืองราชบุรี

น้ำในคลองระแหงยังค่อนข้างใสสะอาด ยังมีเด็กน้อยลงเล่นน้ำอยู่เลย ฝั่งตรงข้ามมองไป เห็นมีร้านขายเครื่องจักสาน เครื่องมือหาปลา ร้านขายยาแผนโบราณ – แผนปัจจุบัน และร้านตัดผม เฉพาะร้านยานั้น คุณเอนก นาวิกมูลเล่าว่า เป็นของคุณโอฬาร ชีวะพฤกษ์ ซึ่งเป็นนักสะสมตัวยงคนหนึ่ง ในร้านจึงมีทั้งกระป๋องลูกอมเก่า สีสวยสดหลากหลายยี่ห้อ ที่ใช้เก็บตัวยาสมุนไพร แล้วก็มีของเก่าอื่นๆ อีกมาก

ตรงมุมสุดของห้องแถว มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง จุดนั้นมีสะพานทอด ให้คนทั้งสองฝั่งคลองเดินข้ามไปมา

เชิงสะพานฝั่งตรงข้ามศาลเจ้านี่แหละ ที่ได้พบกับของดีเข้า คือ ร้านอาหารแบบโบราณ แบบเดียวกับที่เคยกินตอนเด็กๆ ร้านนี้ชื่อ แปโภชนา ซึ่งมีอยู่ร้านเดียวเท่านั้น ขายกับข้าวตามสั่ง เป็นอาหารไทยปนไปกับอาหารจีน ประเภทผัดผัก ผัดเผ็ด ต้มยำ แกงจืด และยำสารพัดอย่าง รสชาติกลางๆ ไม่เผ็ดโหดอย่างฝีมือคนไทยทำ เรียกว่าเหมาะสำหรับคนกินอาหาร ที่ดูสะอาดสะอ้าน รสจัด แต่ไม่เผ็ด

ที่ ชอบมาก มีอยู่สามสี่อย่าง คือ หมูทรงเครื่อง คล้ายหอยจ๊อ แต่เดาว่าเขาต้องเอาไปทอดสดๆ เลย ไม่นึ่งก่อนย่าง ตามแบบวิธีทำหอยจ๊อ มีส่วนผสมของพริกหอม (ชวงเจีย) ป่นมากจนรู้สึกว่าหอมน่ากินจริงๆ ทอดมาอย่างดี กรอบนอก นุ่มใน กินกับน้ำจิ้มบ๊วยเจี่ยหวานๆ เปรี้ยวๆ เค็มๆ สามรส เรียกน้ำย่อยได้อร่อยเด็ด

ผัดพริกแกงเนื้อปลากราย เป็นสไตล์แบบคนจีนผัด คือเห็นน้ำมันพริกลอยแดงๆ คลุกข้าวร้อนๆ ได้อร่อย ไม่เผ็ดจนเกินไป เนื้อปลาก็สด และนวดจนเหนียวหนึบได้ที่ เคี้ยวเพลินเหงือกดีจริงๆ

ต้มยำปลาช่อน ชามนี้ทำได้ใกล้เคียง แบบร้านคนไทยทำ คือน้ำใสแจ๋ว แต่รสจัดมาก มีพริกขี้หนูแห้งทอด บุบโรยหน้ามาด้วย ครบเครื่องจริงๆ ซดร้อนๆ โล่งคอชะมัด

ผัดไทยก็เด็ดดี ออกมันๆ เขาผัดปรุงรสมากลางๆ เลยลองเติมพริกป่น มะนาว น้ำปลาให้เข้มขึ้นอีก แล้วกินกับข้าวสวยร้อนๆ แบบที่คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ท่านเคยแนะไว้ ในข้อเขียนของท่าน ก็อร่อยเยี่ยมทีเดียว

ผนังร้านติดไว้ด้วยภาพถ่ายขาวดำเก่าคร่ำคร่า อายุหลายสิบปีมาแล้ว เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตำบลระแหง เช่นว่าการขุดคลอง ตัดถนน งานฉลองในช่วงเทศกาล ผู้คนและบ้านเรือนแบบเก่าๆ ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคกลับไปในเวลานั้น

ร้านแปโภชนา จึงเป็นเสน่ห์ของตลาดระแหงอย่างแท้จริง แต่ว่าใครจะอยากกินต้องรีบมาสักนิด เพราะว่าพอตกบ่ายคล้อยเข้าหน่อย สักสามสี่โมงเย็น เขาก็ตั้งท่าจะปิดเสียแล้วล่ะ

สำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลรอบๆ ทางด้านทิศเหนือ แถบปทุมธานี ตลาดระแหงจึงเป็นสถานที่ ที่อาจแวะกินมื้อกลางวันอร่อยๆ ก่อนจะเดินทางต่อ หรือเป็นที่เดินเล่นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ของครอบครัวเล็กๆ ได้อย่างดี

สำหรับใครที่ยังไม่เคยเที่ยวตลาดเก่า ตลาดเล็กๆ อย่างระแหง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนจะขยับขยายไปยังตลาดที่ใหญ่กว่านี้ ไกลกว่านี้ สวยกว่านี้ อย่างตลาดริมแม่น้ำสายใหญ่ๆ แถบอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง หรือสิงห์บุรี

รวมทั้งอาจขยับขยายความสนใจ ไปยังบ้านเล็กเมืองน้อย อาคารย่านเก่า ตลอดจนชุมชนโบราณ ที่มีวัฒนธรรมประเพณี แตกต่างไปจากเรา หากทว่าร่วมสมัยอยู่กับเรา ณ ช่วงเวลาปัจจุบันเดียวกันนี้ด้วย


soma_sakandha

 
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   แหล่งท่องเที่ยวในเขตหนองจอก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  


   


สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาเยือนเว็บท่องเที่ยวหนองจอกครับ 

ผมมีความยินดีภูมิใจนำเสนอเขตหนองจอกที่เป็นพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก และเป็นหนึ่งในเขตที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ  แต่คุณรู้มั้ยครับว่าเขตชานเมืองอย่างหนองจอกนั้นมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันอยู่  และมีสภาวะแวดล้อมที่คล้ายกับต่างจังหวัดอย่างฉะเชิงเทราอีกด้วย

เขตหนองจอก (Nongchok District) ได้รับการสถาปนาเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2440 (1897)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดมีนบุรีโดยได้มีการอพยพชาวไทยมุสลิมจากบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ มาตั้งรกรากทำมาหากินตามแนวคลองแสนแสบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุดลอกขยายคลองเพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเดินเรือ  ครั้นต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทคูสยามขึ้นและได้สัมปทานขุดลอกคลองต่างๆ เพื่อประโยชน์ในทางกสิกรรมจึงมีผู้อพยพตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตามลำดับ  ในปีพ.ศ. 2499 ร.ต.ต.ยรรยง ธีรรัช นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าที่ตั้งของอำเภอไม่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ ประกอบกับอาคารที่ว่าการอำเภอชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก  จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่แห่งใหม่ ณ บริเวณหมู่ 2 แขวงกระทุ่มราย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตในปัจจุบัน เดิมเป็นอาคารไม้สองชั้น  ต่อมาปีพ.ศ. 2523  ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้นหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียงกับอาคารหลังเดิม มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างกัน  ต่อมาได้ทำการรื้อถอนอาคารหลังเดิมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2532  และมีพิธีเปิดอาคารหลังใหม่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533

หมายเหตุ  อำเภอหนองจอก เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า เขตหนองจอก ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

ที่มา : แผ่นพับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเขตหนองจอก  กองการท่องเที่ยว


จังหวัดมีนบุรี ขึ้นกับมณฑลกรุงเทพ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอหนองจอก และอำเภอเจียรดับ (ปัจจุบันอยู่ในเขตหนองจอก)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 จังหวัดมีนบุรีได้ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร เพื่อประหยัดงบประมาณราชการ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1อำเภอที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดมีนบุรีเดิมจึงมีชื่อเรียกว่า อำเภอมีนบุรี และได้รับเอาท้องที่ตำบลแสนแสบจากอำเภอลาดกระบังมาอยู่ในการปกครองในปีพ.ศ.2500

จากนั้นอำเภอมีนบุรีได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเขตมีนบุรี เมื่อมีการรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นกรุงเทพมหานครในปีพ.ศ. 2515 แบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นแขวง รวม 7 แขวง จนในที่สุด ปี พ.ศ. 2540 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตมีนบุรี แยก 5 แขวงทางด้านเหนือของเขต ไปจัดตั้งเป็นเขตคลองสามวา ทำให้เขตมีนบุรีเหลือพื้นที่ปกครองอยู่ 60 ตารางกิโลเมตรเศษ ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของกรุงเทพมหานคร

ที่มาจาก : wikipedia.org



Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 464,146 Today: 56 PageView/Month: 1,840

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...