ท่องเที่ยวหนองจอก (Nongchoktravel)

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ธารน้ำใสสะอาด  พฤกษชาติเขียวขจี  พื้นที่กว้างใหญ่  มหาวิทยาลัยระดับชาติ  ผดุงบทบาท "บรม" "บวร"  พัฒนาประชากรหนองจอก ... ประพันธ์โดย อ.อั๊ดนาน นีละไพจิตร ข้าราชการบำนาญ

   Main webboard   »   แหล่งท่องเที่ยวในเขตหนองจอก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ลำไทรโฮมสเตย์ ณ หนองจอก กทม.  (Read: 11424 times - Reply: 1 comments)   
luise

Posts: 62 topics
Joined: 16/8/2552

ลำไทรโฮมสเตย์ ณ หนองจอก กทม.
« Thread Started on 6/8/2553 19:45:00 IP : 124.122.166.73 »
 

"คอยรุตตั๊กวา" (ชุมชนอิสลามลำไทร) ชุมชนพอเพียง สงบสุขร่มเย็น เกื้อกูลและพึ่งตนเอง

ที่มาจาก http://tawanguide.spaces.live.com/blog/cns!2B3A6054F8F73408!376.entry

"คอยรุตตั๊กวา" (ชุมชนอิสลามลำไทร) ชุมชนพอเพียง สงบสุขร่มเย็น เกื้อกูลและพึ่งตนเอง  
 
              การไปเยี่ยมเยือนชุมชนคอยรุตตั๊กวาครั้งนี้ ไม่ใช่การเดินทางไปเยือนครั้งแรกของผม แต่เป็นการเดินทางย้อนเวลากลับสู่อดีตเมื่อครั้งยังรุ่น ๆ  กล่าวคือ  เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วเป็นอย่างไร (บ้านนอก) ปัจจุบันก็ยังคงเป็น (บ้านนอก)อย่างนั้น     สมัยก่อน นักเรียนมัธยมต่างจังหวัดอย่างผมต้องดิ้นรนมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อาศัยเป็นเด็กวัดมาเรียนที่โรงเรียนบางกะปิ  ผมมักจะล้อเลียนเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนที่อาศัยอยู่ย่านหนองจอกว่า "พวกตะเข็บชายแดน" คือเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนกรุงเทพฯ กับอำเภอบางคล้า แปดริ้ว  
 
             จำได้ว่าผมและเพื่อน  ๘ คน ตามเพื่อนคนหนึ่งที่บ้านอยู่ย่านหนองจอกกลับบ้าน  การสัญจรไปมาหาสู่กันสมัยนั้นมีเพียงทางเรือเท่านั้นที่สะดวกสุด  เริ่มจาก ล่องเรือจากท่าประตูน้ำ คลองแสนแสบ เวลา ๐๖.๐๐ น. ถึงท่าบางกะปิ เวลา ๐๙.๓๐ น. จากนั้นต้องรอเปลี่ยนเรืออีก ๒ ชั่วโมง คือรอเรือจากหนองจอกที่บรรทุกสินค้าเกษตรมาขายที่ตลาดบางกะปิ  ระหว่างรอก็มีความสุขกับการรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือ ชามละ ๕๐ สตางค์  ขึ้นเรืออีกครั้ง เวลา ๑๒.๓๐ น. เรือจะแล่นและรับส่งผู้โดยสารที่สะพานสูง คันนายาว มีนบุรี   ถึงมีนบุรีต้องเปลี่ยนไปนั่งเรือลำเล็กซึ่งเป็นเรือพาย สามารถล่องต่อไปคลองเจียรดับ, คลองลำไทร ถึงบ้านเพื่อน เวลา ๑๖.๐๐ น. เย็นพอดี ไม่มีโอกาสล่องเรือไปกลับในวันเดียวกัน ต้องค้างบ้านเพื่อน ๑ คืน วันรุ่งขึ้น ป๊ะ(พ่อของเพื่อน) และ มะ (แม่ของเพื่อน) จะเข้าสวนเก็บพืชผัก ผลไม้ และจับกุ้งจับปลาไว้สำหรับเป็นของฝากให้ผมและผองเพื่อนถือติดมือกลับ บ้าน(กลับวัด) ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม
 
 
  
                 บ้านเพื่อน เป็นบ้านริมคลอง ตัวบ้านยื่นออกมาในน้ำ น้ำใสมาก มองเห็นฝูงปลาที่มาหลบแดดใต้ถุนบ้านชัดเจน อาทิ ปลากระดี่นางฟ้า ปลาตะเพียนทอง ปลาเกล็ดขาว และปลาช่อน ส่วนบนบกก็มีพืชพรรณหลายชนิดปลูกผสมผสานกันให้เก็บกินได้ตลอดทั้งปี อาทิ ต้นฟักข้าว ตะลิงปลิง หว้า ถั่วพลู ตะไคร้ พริก มะกรูด มะแว้ง มะนาว มะระขี้นก ตำลึง กระทกรก มะเฟือง กอไผ่ มะยม มะม่วง มะขาม ขนุน กล้วย มะละกอ แอ๊ปเปิ้ลน้ำ ฯลฯ
 
                 ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบน้ำคลอง สมัยนั้นน้ำประปาเข้าไม่ถึงครับ  พวกผมเลือกที่จะกระโดดจากต้นไม้ลงคลอง เสียงน้ำกระจายดังตูมตาม สะใจดี    ค่ำลง เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ต้องจุดตะเกียงน้ำมัน ล้อมวงกินข้าวด้วยมือ หัวแทบชนกันเนื่องจากแสงสว่างน้อย อาหารเย็นมื้อนั้นอร่อยมาก มี น้ำพริกกะปิ (ต้องเป็นตัวกุ้งกะปิมาจากคลองแสนแสบ) ปลาช่อนแดดเดียวย่าง แกงจืดตำลึงใส่หอมเจียว ข้าวนั้นมะ(แม่)หุงด้วยหม้อดิน เป็นทักษะเฉพาะตัวซึ่งผมทึ่งมาก  ส่วนของหวานได้แก่ ฟักข้าว มะละกอสุก  พอฟ้ามืดก็นอนชมดาวเดือนกันละครับ มีเสียงดนตรีธรรมชาติบันเลง ได้แก่ เสียงจิ้งหรีด จั๊กจั่น เรไร  สลับกับเสียงอ่านอัลกุรอานแว่วมาเป็นระยะ
 
                 รุ่งขึ้นพากันเข้าสวน หาปลา จับกุ้ง เก็บผักบุ้ง เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารเช้า วัตถุดิบใหม่สด ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง    พอเวลาสายป๊ะ ก็จะฝากผมไปนั่งรถกับญาติเพื่อไปลงบางคล้า แปดริ้ว จับรถโดยสารไปลงหมอชิต บริเวณเซ็นทรัล ลาดพร้าว จำได้ว่าถึงกรุงเทพฯ เวลา ๑๓.๓๐ น. หอบของพะรุงพะรังลงจากรถโดยสารราวกับว่ามาจากชนบท และบรรดาของฝากที่ป๊ะกับมะให้มานั้นสามารถต่อชีวิตเด็กวัดอย่างผมให้อยู่ได้ เป็นเดือน
 
                  เด็กสมัยนี้อาจมองว่าการเดินทางเช่นนั้นเป็นเรื่องลำบาก  แต่ผมกลับรู้สึกว่าเป็นการเดินทางที่มีความสุข ญาติพี่น้องของเพื่อนให้การต้อนรับที่อบอุ่นมากเหมือนผมเป็นญาติพี่น้องใน ครอบครัว  เป็นความรู้สึกดั่งกลับบ้านตัวเองที่ต่างจังหวัดทีเดียว
 
                  ปัจจุบันการต้อนรับผู้ไปเยือนชุมชนคอยรุตตั๊กวา  ก็ยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นเดิม เหมือนกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องอย่างไรก็อย่างนั้น ลำคลองยังสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทางในชุมชน บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วคอนกรีตกั้น มีเพียงพุ่มไม้เตี้ย ๆ ปลูกไว้แสดงอาณาเขตเท่านั้น ล้อมรั้วด้วยใจเป็นเช่นนี้เอง   สิ่งที่ต่างไป จากอดีตก็เห็นเพียงการคมนาคมที่เจริญขึ้น มีถนนลาดยาง สามารถนำรถบัสคันใหญ่ไปจอดเทียบถึงหน้าศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการ เกษตร  ส่วนวิถีชีวิตที่เป็นเกษตรนั้นยังดำรงชีพเป็นเกษตรกรอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ ไร้สารเคมี ผลิตปุ๋ยใช้เอง ไม่รบกวนธรรมชาติ ระบบนิเวศเกิดความสมดุลในตัวเอง
 
 
 บ้านของอาจารย์สมชาย สมานตระกูล  วิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทำจริง รู้จริง
 
                 อาจารย์สมชาย สมานตระกูล  กล่าวถึงความสำเร็จของชุมชนที่มีผู้มาเยี่ยมชมศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องว่า ความสำเร็จของชุมชน เกิดจากทุน ๓ ประการ
๑. ทุนทางด้านสังคม คือ อยู่กันมาร้อยกว่าปี เป็นปึกแผ่น อยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน เดิมก็ใช้ชีวิตเกษตรกันอยู่แล้ว
๒. ทรัพยากรที่มีอยู่ ตราบใดที่มีผืนดิน  มีแหล่งน้ำ มีอากาศ ชาวบ้านก็มีอาชีพ ใช้ประโยชน์จากผืนดิน เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้
๓. ทรัพยากรมนุษย์ คือ คนในชุมชนมีคุณภาพ ผู้นำเสียสละอุทิศตน รู้จักเรียนรู้ รู้จักการบริหารจัดการทรัพยากร มีการแบ่งปันเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น  
 
                "พื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องของหลักการในศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านใช้ในวิถีชีวิตของเขามาตลอด วิถีของอิสลามมันเป็นวิถีของการพึ่งตนเองเป็นอันดับต้นๆ เลย คำสอนของศาสนาอิสลามมีตอนหนึ่งกล่าวว่า ‘มนุษย์ที่ดียิ่งก็คือมนุษย์ที่ช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่น’ เพราะฉะนั้นพึ่งตนเองได้ไม่พอ ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ตรงนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือทางสังคมขึ้นมา การช่วยเหลือนี่เองที่เป็นเป้าประสงค์ของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นความเอื้ออาทร ความพอประมาณ ก็เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่เราใช้ในการดำรงชีวิตมาตลอด"
       
                "ในหลักการของศาสนาอิสลาม ความพอประมาณก็คือการใช้คุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง พอประมาณกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เช่นพอประมาณกับพื้นที่ พอประมาณกับแรงกาย แรงงาน พอประมาณกับทรัพยากร พอประมาณกับค่าใช้จ่าย มันเป็นเรื่องที่เป็นชีวิตมาโดยตลอด"
 
 
 
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อให้ประชาชนน้อมนำไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานของความพออยู่พอกิน เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการจัดสรรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดรายจ่าย หากเหลือให้นำไปขายเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ เช่น การออมฯ สังคม การศึกษา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ปัญญา และคุณธรรมในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ เกิดความพอเพียง สามารถเผชิญ รู้เท่าทัน และแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้
 
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
 
              "...คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง….สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ..." 
        
 
 
               "ชุมชนคอยรุตตั๊กวา" ตั้งอยู่หมู่ ๕ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ชุมชนลำไทร" ชุมชนแห่งนี้ได้รับการบุกเบิกเมื่อประมาณ ๑๓๐ ปีที่ผ่านมา โดย "นายอิบรอฮีม-นางซานี บีดิล" สองสามีภรรยาที่อพยพถิ่นฐานจากปัตตานีมาอยู่แถบลุ่มน้ำแสนแสบ (บริเวณบ้านเจียรดับในปัจจุบัน)  จากพื้นที่ป่าก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเป็นเรือกสวน ไร่ นา จนทำเป็นอาชีพหลัก โดยยึดหลักการปกครองดูแลเป็นระบบครอบครัวและลูกหลานสืบมา  ประชากรในหมู่บ้านลำไทรร้อยละ ๙๐ เป็นชาวมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหงส์ เลี้ยงนก เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ
 
               ปี 2537 "ชุมชนคอยรุตตั๊กวา" ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นชุมชนตามระเบียบของ กทม. โดยใช้ชื่อว่า "ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา"
 
  ลำไทรฟาร์ม ของอาจารย์ถาวร สมานตระกูล  เลี้ยงนกแก้วมาคอร์ เป็ดแมนดาริน วูดดั๊ก และหงส์ ๓ พันธุ์ คือ หงส์สีดำปากแดง  หงส์สีขาวคอดำ  หงส์ขาว
 
 
 
หงส์ดำเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย สามารถนำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทยจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน หงส์ดำมีอายุเฉลี่ยราว 15 ปี ออกไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง ฟักนาน 35 วัน จึงออกเป็นลูกหงส์ จะออกไข่เมื่อมีอายุราว 2 ปี
 
 
 เลี้ยงเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ นกกระเรียน
 
 
เลี้ยงเพื่อความสวยงาม  เป็ดปักกิ่ง 
 
 การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน นก เป็ด ห่าน เมื่อกินอาหาร เศษอาหารส่วนเกินจากปากก็จะหล่นลงน้ำ ปลาในบ่อก็ได้กินต่อ 
 
 ผลผลิตจากสวน ไร่ นา ทรัพยากรที่เป็นส่วนเกินจากที่บริโภคในครัวเรือน เหลือจากแจกกันในกลุ่ม เพื่อนบ้าน สามารถแปรรูปและถนอมอาหารเป็นสินค้าเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว 
 
 สะพานข้ามคลองไปสู่ โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ
 
 
 ฝูงห่านมามุงดูชาวคณะศึกษาดูงาน และส่งเสียงต้อนรับกันอื้ออึง
 
 
อาจารย์บุญเหลือ สมานตระกูล กำลังถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันผลผลิตแห่งความภูมิใจ "แก้วมังกรแดงสยาม"
 
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดตั้ง “โรงเรียน เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ กรุงเทพมหานคร” แห่งแรกที่ ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ  ซึ่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนฯ  เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙  ที่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา หมู่ ๕ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอกนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายบุญเหลือ สมานตระกูล และญาติ ให้ใช้ที่ดินจำนวน ๑๔ ไร่ เศษ ให้กรุงเทพมหานครใช้เป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ มีระยะเวลา ๑๐ ปี ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขตหนองจอกได้เข้าปรับพื้นที่เป็น ๔ ส่วนคือ ปลูกข้าว ร้อยละ ๓๐ พืชไร่ พืชสวน ร้อยละ ๓๐ ขุดสระที่ไว้ใช้บริโภค การเกษตร และเลี้ยงปลา ร้อยละ ๓๐ และเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ ๑๐    
 
 
                  ระบบจ่ายน้ำด้วยสปริงเกิลที่อ.บุญเหลือ นำจักรยานเก่ามาประยุกต์ใช้ ยังทันสมัยเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างดี ใช้พลังคน ประหยัด ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้ประโยชน์ต่อที่สองคือได้ออกกำลัง ร่างกายแข็งแรงได้โดยไม่ต้องไปจ่ายเงินเพื่อเข้าฟิตเนส
 
 บนพื้นที่ ๑๔ ไร่ ๘๑ ตารางวา ตามอัตราส่วน
พื้นที่ทำนา ๓๐% ประมาณ ๔ ไร่เศษ
เลี้ยงปลาและพื้นที่น้ำ ๓๐% ประมาณ ๔ ไร่เศษ
พื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผัก ๓๐% (๔ ไร่) ประมาณ ๔ ไร่เศษ
พื้นที่ปลูกบ้านพักอาศัยและสัตว์เลี้ยง ๑๐ % ประมาณ ๒ ไร่เศษ
 
 
 ภาพซ้ายร้านอาหารม่านบาหลี  ภาพขวาเป็นการตอนมะละกอ
 
 
 
บ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชนคอยรุตตั๊กวา
ชุมชน คอยรุตตั๊กวาจะจัดบ้านของตนเองเป็นบ้านพักโฮมสเตย์ ไม่มีการสร้างที่พักเพื่อเป็นธุรกิจ จึงไม่มีเครื่องปรับอากาส ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น  ผู้ที่เข้าพักต้องอาศัยอยู่กับเจ้าของบ้าน เน้นให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนั้นผู้เข้าพักควรจะได้ ศึกษาธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนมุสลิมก่อน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ประพฤติผิด กระทำสิ่งน่าอาย หรือ กระทำผิดข้อห้ามทางศาสนา
 
ระเบียบปฏิบัติระหว่างกิจกรรมพักโฮมสเตย์ มีดังนี้

๑. ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาที่ตนเองเคารพนับถืออย่างเคร่งครัด
๒. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ของมึนเมาทุกชนิด บริเวณบ้านพักและชุมชน
๓. ห้ามนำหรือพกพาอาวุธทุกชนิด
๔. ห้ามเกี้ยวพา ชู้สาว หยอกล้อ ส่งเสียงดัง ก่อความไม่สงบในที่พักและบริเวณบ้านพัก
๕. ห้ามแต่งกายที่ขัดต่อวัฒนธรรมไทย-มุสลิม  สุภาพสตรีไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยเนื้อตัว เช่น เสื้อเกาะอก ขาสั้น
๖. ไม่สมควรออกนอกบริเวณบ้านพัก ก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน
๗. ห้ามนำอาหารที่เป็นที่ต้องห้ามของศาสนาอิสลามติดตัวมาและเข้ามาในบ้านพัก เช่น เนื้อหมู เนื้อของสัตว์เลื้อยคลาน
๘. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงติดตัวมาเลี้ยงดูระหว่างเข้าที่พัก
๙. ห้ามเล่นการพนัน เกมส์เสี่ยงทาย ดูหมอทำนายทายทัก
๑๐. ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าของบ้านหรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการและถ่าย ทอดเทคโนโลยีการเกษตร กรรมการชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา
๑๑. ห้ามลักขโมยหรือกลั่นแกล้งคนอื่น ๆ
๑๒. อื่น ๆ ตามที่เจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเพิ่มเติม เช่น ไม่ควร ร้องเพลง เต้นรำ เปิดเพลง หรือเล่นดนตรีอึกทึก
 
โฮมสเตย์ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เขตหนองจอก
ราคาที่พัก ๑๐๐ บาท/คน/คืน
ค่าอาหารหลัก ๗๐ บาท/คน
ค่าอาหารว่าง ๒๕ บาท/คน
ค่าบริการทางมัคคุเทศก์ ๕๐๐ บาท/คน/วัน
ค่าวิทยากร ๑,๕๐๐ บาท/ครั้ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สมชาย สมานตระกูล โทร.๐ ๒๕๔๓ ๒๑๒๖, ๐๘๓  ๘๐๖ ๓๔๕๖
 
 
 
 
 
 
 
 
สนใจเยี่ยมชมชุมชนคอยรุตตั๊กวา เป็นหมู่คณะ
กรุณาติดต่อล่วงหน้า  อาจารย์สมชาย สมานตระกูล
ที่อยู่ ๓๔/๓ หมู่ ๕  ถนนลำไทร  แขวงโคกแฝก  เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ ๐ ๒๕๔๓ ๒๑๒๖, ๐๘๓  ๘๐๖ ๓๔๕๖
 
 
 เว็บไซต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชุมชนคอยรุตตั๊กวา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Creative Commons License
"คอยรุตตั๊กวา" (ชุมชนอิสลามลำไทร) ชุมชนพอเพียง สงบสุขร่มเย็น เกื้อกูลและพึ่งตนเอง โดย ตะวัน ธนวสุมงคล
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share

กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   แหล่งท่องเที่ยวในเขตหนองจอก
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  


   


สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาเยือนเว็บท่องเที่ยวหนองจอกครับ 

ผมมีความยินดีภูมิใจนำเสนอเขตหนองจอกที่เป็นพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก และเป็นหนึ่งในเขตที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ  แต่คุณรู้มั้ยครับว่าเขตชานเมืองอย่างหนองจอกนั้นมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันอยู่  และมีสภาวะแวดล้อมที่คล้ายกับต่างจังหวัดอย่างฉะเชิงเทราอีกด้วย

เขตหนองจอก (Nongchok District) ได้รับการสถาปนาเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2440 (1897)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดมีนบุรีโดยได้มีการอพยพชาวไทยมุสลิมจากบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ มาตั้งรกรากทำมาหากินตามแนวคลองแสนแสบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุดลอกขยายคลองเพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเดินเรือ  ครั้นต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทคูสยามขึ้นและได้สัมปทานขุดลอกคลองต่างๆ เพื่อประโยชน์ในทางกสิกรรมจึงมีผู้อพยพตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตามลำดับ  ในปีพ.ศ. 2499 ร.ต.ต.ยรรยง ธีรรัช นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าที่ตั้งของอำเภอไม่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ ประกอบกับอาคารที่ว่าการอำเภอชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก  จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่แห่งใหม่ ณ บริเวณหมู่ 2 แขวงกระทุ่มราย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตในปัจจุบัน เดิมเป็นอาคารไม้สองชั้น  ต่อมาปีพ.ศ. 2523  ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้นหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียงกับอาคารหลังเดิม มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างกัน  ต่อมาได้ทำการรื้อถอนอาคารหลังเดิมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2532  และมีพิธีเปิดอาคารหลังใหม่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533

หมายเหตุ  อำเภอหนองจอก เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า เขตหนองจอก ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

ที่มา : แผ่นพับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเขตหนองจอก  กองการท่องเที่ยว


จังหวัดมีนบุรี ขึ้นกับมณฑลกรุงเทพ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอหนองจอก และอำเภอเจียรดับ (ปัจจุบันอยู่ในเขตหนองจอก)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 จังหวัดมีนบุรีได้ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร เพื่อประหยัดงบประมาณราชการ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1อำเภอที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดมีนบุรีเดิมจึงมีชื่อเรียกว่า อำเภอมีนบุรี และได้รับเอาท้องที่ตำบลแสนแสบจากอำเภอลาดกระบังมาอยู่ในการปกครองในปีพ.ศ.2500

จากนั้นอำเภอมีนบุรีได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเขตมีนบุรี เมื่อมีการรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นกรุงเทพมหานครในปีพ.ศ. 2515 แบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นแขวง รวม 7 แขวง จนในที่สุด ปี พ.ศ. 2540 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตมีนบุรี แยก 5 แขวงทางด้านเหนือของเขต ไปจัดตั้งเป็นเขตคลองสามวา ทำให้เขตมีนบุรีเหลือพื้นที่ปกครองอยู่ 60 ตารางกิโลเมตรเศษ ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของกรุงเทพมหานคร

ที่มาจาก : wikipedia.org



Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 463,607 Today: 46 PageView/Month: 1,269

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...